ประวัติภาควิชา
ประวัติความเป็นมาของส่วนงาน
เมื่อแรกตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2498 นั้น จุดประสงค์เพื่อจะขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกมายังส่วนภูมิภาค จึงถือได้ว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย วิทยาลัยเริ่มรับนิสิตและผลิตบัณฑิตในสาขาศึกษาศาสตร์แต่เดิม มีดังนี้
๑. คณะศึกษาศาสตร์
๒. คณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์
๓. คณะวิทยาศาสตร์
๔. คณะวิจัยวิชาการศึกษา
คณะเหล่านี้มีหัวหน้าคณะวิชาเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบขึ้นตรงต่อรองอธิการบดี ส่วนศูนย์นโยบายอยู่ที่อธิการ ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร กรุงเทพฯ ผู้บังคับบัญชาระดับคณะ เรียกว่า "ผู้ประสานงาน" คณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ มีผู้บังคับบัญชา เรียกว่า "ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์"
วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสนได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสน เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๑๗ โดยอนุมัติของทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยรวมกับกลุ่มภาษาในประเทศเอเชียตะวันออกและได้ตั้งชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวิชาภาษาไทยว่า "ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก"
เมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสนได้รับการยกฐานะแยกเป็นมหาวิทยาลัยบูรพาเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓ โดยอนุมัติของทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดการเรียนการสอนเป็นการเฉพาะในหมวดวิชาภาษาไทยและได้ตั้งชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวิชาภาษาไทยว่า "ภาควิชาภาษาไทย"
ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพารับผิดชอบ
ด้านการเรียนการสอนวิชาพื้นฐาน วิชาโทและวิชาเอก ระดับปริญญาตรี หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ. ภาษาไทย)และการวิจัยมาตั้งแต่ครั้งแรกตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ภาควิชาภาษาไทยได้รับภารกิจในด้านการเรียนการสอนและได้พัฒนาคุณภาพทางวิชาการ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของมหาวิทยาลัยและสังคมมาโดยลำดับ เมื่อได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้เปิดสอนหลักสูตรใหม่อีก ๑ หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ. ภาษาและวรรณคดีไทย) และได้ปฏิบัติภารกิจนี้มาโดยลำดับจนกระทั่งมหาวิทยาลัยได้รับการยกฐานะแยกเป็มหาวิทยาลัยบูรพาในปี พ.ศ. ๒๕๓๓
จากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการเรียนการสอนและการวิจัยของคณาจารย์ในภาควิชาฯ ที่ได้มีการพัฒนามาโดยตลอดทำให้ภาควิชาฯ สามารถเปิดสอนในระดับปริญญาโท หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม. ภาษาไทย) ภาคปกติในปี พ.ศ.๒๕๓๔ และหลักสูตร
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม. ภาษาไทย) ภาคปกติ แผน ก ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ภาคปกติ แผน ข ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ และภาคพิเศษ แผน ข ในปี พ.ศ.๒๕๔๖
วิสัยทัศน์
เป็นผู้นำบูรณาการด้านวิชาการ สร้างมาตรฐานการเรียนรู้ สู่ความเป็นสากล
พันธกิจ
การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในลักษณะบูรณาการ มีมาตรฐานการเรียนรู้และมีความเป็นสากลบนพื้นฐานท้องถิ่น
บุคลากร
๑. อาจารย์ประจำ ๑๐ คน
๒. เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ๑ คน
อาจารย์จำแนกตามวุฒิ
๑. ปริญญาโท ๖ คน
๒. ปริญญาเอก ๔ คน
อาจารย์จำแนกตามตำแหน่งทางวิชาการ
๑. อาจารย์ ๗ คน
๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ๓ คน
รวม ๑๐ คน
โครงสร้างภาควิชา